ภายหลังการปฏิรูประบบราชการไทยเมื่อปี พ.ศ. 2545 และการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 หน่วยงานภาครัฐได้มีการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างต่อเนื่อง มีการนำแนวคิดวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีหรือหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) มาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน อย่างไรก็ตามตลอดช่วงเวลากว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา ยังคงมีข่าวการดำเนินงานที่ขาดความโปร่งใสและการร้องเรียนเรื่องทุจริตในการรับบริการของหน่วยงานภาครัฐจากภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับภาพลักษณ์การทุจริต (Corruption Perception Index: CPI) โดยองค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) ซึ่งที่ผ่านมามีค่าคะแนนค่อนข้างต่ำมาโดยตลอด ล่าสุดประเทศไทยมีค่าคะแนนภาพลักษณ์การทุจริต ประจำปี 2557 อยู่ที่ 38 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 85 จากประเทศที่เข้าร่วมประเมินทั้งหมด 175 ประเทศทั่วโลก
คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ ๓ (พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๖๔) เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ และให้ความเห็นชอบให้หน่วยงานภาครัฐแปลงแนวทางและมาตรการตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ ๓ (พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๖๔) สู่การปฏิบัติตามแผนงานบูรณาการและป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่กำหนดไว้ว่า “ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต (Zero Tolerance & Clean Thailand)” โดยให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นต้นไป
เทศบาลเมืองชัยภูมิ ได้เล็งถึงความสำคัญในการตอบสนองนโยบายดังกล่าว โดยจะเป็นแบบอย่างที่ดีในการบริหารงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต มีคุณธรรม ความโปร่งใส ปราศจากการทุจริต และเพื่อเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม ในการบริหารงาน ให้บรรลุเจตนารมณ์ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน และร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ทุกระดับรวมทั้งตอบสนอง และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตเทศบาลเมืองชัยภูมิ (ศปท. ทม.ชย.) (Anti – Corruption Operation Center)
……………………………
ความเป็นมา
ด้วยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ โดยให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐกำหนดมาตรการหรือแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ โดยมุ่งเน้นการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารงาน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการตรวจสอบ เฝ้าระวัง เพื่อสกัดกั้นมิให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบ และให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ภายใต้พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ ประกอบกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคล โดยให้บังคับใช้มาตรการทางวินัย มาตรการทางปกครอง และมาตรการทางกฎหมายอย่างเฉียบขาดและรวดเร็ว และในการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการดำเนินงานให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ อย่างเคร่งครัด ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๖๙/๒๕๕๗ เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ ลงวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ ประกอบยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ ๓
(พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๖๔) ที่กำหนดไว้ว่า “ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต (Zero Toleranc &
Clean Thailand)” จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตภายในสำนักงานเทศบาลเมืองชัยภูมิแห่งนี้ขึ้น ณ เลขที่ ๓๔๕ ถนนบรรณาการ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ
ผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ Integrity & Transparency Assessment (ITA) โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ของเทศบาลเมืองชัยภูมิ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560